ใช้งาน Apple Pay ในไทย ด้วยบัตรเดบิตจากธนาคารออนไลน์ N26

หลายๆ คนอาจจะเห็น หรือเคยใช้งาน Apple Pay มาแล้วบ้างในต่างประเทศ แต่วันนี้จะมาแนะนำธนาคาร N26 ที่ทำให้เราสามารถใช้บริการ Apple Pay ได้ภายในประเทศไทย โดยสมัครจากประเทศไทย และรอรับบัตรที่บ้านได้เลย โดยไม่ต้องใช้ที่อยู่ของเราในต่างประเทศแต่อย่างใด

อย่างที่รู้ๆ กันครับว่า Apple Pay ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย ซึ่งหลายคนก็รอกันมานาน รู้สึกได้ว่าในไทยนั้น การรองรับ Apple Wallet (หรือในอดีต: Passbook) นั้นยังมีค่อยข้างน้อย ส่วนมากจะไปอยู่กับสายการบิน ทั้ง Loyalty Card และ Boarding Pass และเครือโรงแรมต่างๆ ที่รองรับการเพิ่มบัตรสมาชิกเข้ามาใน Apple Wallet ได้

รูปบัตรเดบิต Mastercard ของ N26

N26 เป็นสตาร์ตอัพ FinTech จากประเทศเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ครับ โดยธนาคาร N26 นั้นคือธนาคารที่ไม่มีสาขา เชื่อถือได้ ถูกกฎหมายธนาคารในยุโรป และมีระบบความปลอดภัยแน่นหนาพอสมควร โดยผมได้ลองเปิดบัญชี รวมทั้งบัตรเดบิตในช่วงปลายปีที่แล้ว ในวันที่ 21 ธันวาคม 2019 และได้รับบัตรเดบิตในวันที่ 6 มกราคม 2020 ถือว่านานพอสมควร เพราะว่าติดวันหยุดช่วงปีใหม่ รวมไปถึงขั้นตอนการส่งบัตรเดบิตที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังครับ

สมัครสมาชิก N26

ในขั้นตอนแรกเราสามารถขอเปิดบัญชี และสมัครบัตรเดบิต N26 ได้จากหน้าเว็บ และแอพเลยครับ ทำตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ ซึ่งควรเตรียม Passport ไว้ด้วย เนื่องจากมีการวิดีโอคอลกับเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันตัวตนครับ ในส่วนนี้เขาจะขอดูรายละเอียดต่างๆ บนพาสปอร์ต วันหมดอายุ และจะมีการเช็คว่าพาสปอร์ตนั้นเป็นของจริงโดยข้อมูลความปลอดภัยที่เขามีอยู่ครับ เราก็ทำตามที่เจ้าหน้าที่บอกไปเรื่อยๆ จนเสร็จ ก็ถือว่าการยืนยันตัวตน และเปิดบัญชีสำเร็จครับ

ในส่วนของบัตรเดบิตของ N26 จะมีทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ Standard, Smart และ Metal ซึ่งบัตร N26 Standard ฟรีค่าธรรมเนียมทุกอย่างครับ ผมเลยเลือกบัตรนี้ เพราะอีกสองประเภทที่เหลือ ค่าธรรมเนียมโหดพอสมควร สิ่งที่ได้เพิ่มมาก็จะเป็นพวกการถอนเงินจาก ATM ทั่วโลก ประกันการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งคิดว่าไม่จำเป็นครับ เพราะเราจะเอามาใช้ Apple Pay เท่านั้น

ประเภทของบัตรเดบิต N26, รูปจาก N26

ใช้บริการ Tiptrans เพื่อส่งบัตรเดบิตมาไทย

แต่เนื่องจาก N26 ไม่รองรับการส่งบัตรเดบิตมายังประเทศไทยครับ ทำให้ผมเลือกใช้บริการ Tiptrans (เป็น Referal Link ของผมเองครับ จะได้เครดิตคนละ $5 เมื่อมีออเดอร์แรกครับ) เพื่อที่จะรับบัตรจาก N26 ในประเทศเยอรมนี และส่งบัตรต่อมาอีกทีให้เราในประเทศไทยครับ

เมื่อสมัคร Tiptrans แล้ว ก็จะได้ที่อยู่ของกล่องไปรษณีย์ของเรา ที่อยู่ในเยอรมนีมาครับ ก็นำที่อยู่นี้ไปกรอกในระบบของ N26 เพื่อให้ส่งบัตรเดบิตไปหา Tiptrans ครับ

ภาพซองบัตรเดบิต ที่ Tiptrans ส่งมาให้

โดยจาก N26 ส่งบัตรเดบิตมาถึง Tiptrans ใช้เวลาไปตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม – 30 ธันวาคม 2019 ครับ รวมเวลาทั้งสิ้น 10 วันพอดี

จากนั้นเมื่อ Tiptrans รับของแล้ว จะแจ้งในระบบ เราก็สามารถบอกให้ส่งต่อมายังประเทศไทยได้เลย ซึ่ง Tiptrans จะส่งพัสดุแบบลงทะเบียน ทำให้เราติดตามพัสดุได้ตลอดครับ ผมทำเรื่องส่งของไปวันที่ 30 ธันวาคม 2019 ของส่งออกจาก Tiptrans วันที่ 3 มกราคม 2020 (เนื่องจากติดวันหยุดปีใหม่) และของถึงมือผมวันที่ 10 มกราคม 2020 รวมใช้เวลาอีก 8 วันครับ

สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ผมใช้ในระบบของ Tiptrans นั้น แจกแจงได้ดังนี้ครับ

  • ค่ารับพัสดุเข้า Tiptrans = $10.00
  • ค่าจัดส่งพัสดุจาก Tiptrans มาไทย = $11.35
  • ค่าธรรมเนียมเติมเงินเข้าบัญชี Tiptrans = $1.07

รวมทั้งหมดก็จ่ายไปทั้งสิ้น $22.42 ครับ คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ เกือบๆ 700 บาทครับ

เริ่มต้นใช้งาน Apple Pay

เมื่อได้บัตรเดบิตมาแล้ว ก็ทำการเปิดบัตรผ่านทางแอพ N26 ให้เรียบร้อย และแอดเข้า Apple Pay ก็พร้อมใช้งานแล้วครับ (หากแอดไม่ได้ ให้เปลี่ยน Region ของไอโฟนเป็นเยอรมนีก่อน)

บัตรเดบิต N26 ใน Apple Wallet

จากนั้นก็ลองโอนเงินเข้าไปยังบัญชี N26 โดยใช้เลข IBAN ที่ระบุอยู่ในบัญชีได้เลย สามารถทำเรื่องโอนผ่านธนาคารในไทยก็ได้ หรือตามบริการต่างๆ เช่น TransferWise ครับ

ลองใช้ Apple Pay ด้วยบัตร N26

จากนั้นก็ไปลองใช้ Apple Pay กันเลยครับ โดยเลือกจ่ายแบบบัตรเครดิตที่เครื่อง EDC ที่รองรับ payWave เข้า Apple Pay แล้วเอาไอโฟนไปแตะที่เครื่อง EDC ก็เป็นที่เรียบร้อยครับ โดย Transaction ของเราจะปรากฎทั้งบนแอพ N26 เอง และบน Apple Wallet ครับ

ลองจ่ายด้วย Apple Pay ที่ Siam Paragon

สุดท้ายก็อยากจะบอกว่าผมทำบัตรใบนี้มาเพื่อทดลองใช้ Apple Pay เท่านั้นเองครับ การจะเอาไอโฟนไปแตะตามเครื่อง EDC ต่างๆ ต่อหน้าพนักงาน ยังน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่ แถมบัญชีก็เป็นบัญชีต่างประเทศ เวลาจะโอนเงินเข้าไปก็ลำบาก เสียค่าธรรมเนียมสองต่อทั้งการโอนเงินไปเข้าบัญชี และค่าความเสี่ยง Currency Exchange อีก ผลลัพธ์ตอนนี้ก็คือบัตรใบนี้แทบไม่ได้ใช้งานอีกเลยครับ หากใครสนใจก็ลองทำดูได้ครับ บัตรเดบิตตัวจริงหน้าตาดูดีพอสมควร เป็นบัตรแบบใส มองเห็นแผงวงจรข้างในเกือบทั้งหมด หรือหากมีเพื่อนอยู่โซนยุโรป ก็สามารถฝากหิ้วกลับไทยมาได้ ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปได้เยอะครับ